Thursday, September 20, 2012

สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) คืออะไร?

สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) คืออะไร?

ก่อนอื่นเราควรทำความรู้จักกับคุณวิทยาเสียก่อน ดังนี้ 
คุณวิทยา ( Axiology ) คืออะไร ?

คุณวิทยา เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา ศึกษาถึงคุณค่า อุดมคติของความจริง ความดี ความงาม และความบริสุทธิ์ทางใจ มนุษย์มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสัตว์โลกประเภทอื่น ตรงที่ มนุษย์สามารถเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าต่าง ๆ ได้ และที่มนุษย์สามารถเกิดความซาบซึ้งนี้ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักการคิด รู้จักใช้ปัญญา เหตุผล

ปัญหาทางปรัชญา เช่น ปัญหาเรื่องความดี ความถูกต้อง การตัดสินจริยธรรม ความงาม ความสมเหตุสมผล ปัญหาทั้งหมดนี้มีลักษณะที่ร่วมกันอยู่ คือ เป็นเรื่องของคุณค่า

คุณค่า (Value) หมายถึง ลักษณะที่ควรจะเป็น หรือควรจะมีของสิ่งนั้น ๆ หรือการกระทำนั้น ๆ คุณค่านั้นมีลักษณะเป็นนามธรรม จับต้อง มองเห็นไม่ได้ เราจึงถือว่า คุณค่านั้นเป็นอุดมคติ คือ สภาพที่ทุก ๆ สิ่งต้องการเข้าถึง หรือไปให้ถึงจุดนั้นโดยคุณค่านั้นมีความแตกต่างจากข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น กางเกงยีนส์ 2 ตัว ตัวหนึ่งสีดำและมีขนาดเอว 32 นิ้ว อีกตัวหนึ่งมีสีน้ำเงินและมีขนาดเอว 26 หากมีคนถามคุณว่า กางเกงตัวไหนมีขนาดใหญ่กว่ากัน คุณคงตอบได้ถูกว่าเป็นกางเกงตัวสีดำ ซึ่งเราสามารถตัดสินคำถามนี้ได้ด้วยการใช้สายวัดวัดขนาดเอว และการเปรียบเทียบขนาดพื้นที่

แต่ถ้ามีคนถามคุณอีกคำถามหนึ่ง ถามคุณว่า กางเกงยีนส์ตัวไหนสวยกว่ากัน ? ตอบยาก เพราะเราจะใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์วัดว่าตัวไหนสวยกว่า และเพราะอะไร ถ้าคุณตอบว่า ตัวสีดำสวย
เพื่อนคุณอาจบอกว่า ตัวสีน้ำเงินสวย เพื่อนอีกคนอาจบอกว่า ไม่สวยเลยสักตัว ที่แต่ละคนตอบ
ไม่เหมือนกันก็เป็นเพราะ เรื่องของคุณค่านั้นมีขอบเขตที่กว้างและหลากหลาย เป็นนามธรรม แต่ละคนที่ตอบต่างก็ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นเกณฑ์วัด

แล้วข้อเท็จจริงของความรู้นี้จริง ๆ แล้วคืออะไร ข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นเรื่องของคุณค่า ซึ่งแบ่งศึกษาเป็น 3 สาขา คือ

1. จริยศาสตร์ ( Ethics )

2. ตรรกศาสตร์ ( Logic )

3. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)



 สุนทรียศาสตร์ ( Aesthetics ) คืออะไร ?

สุนทรียศาสตร์ มาจากภาษาสันสฤตว่า “ สุนทรียะ ” แปลว่า “ งาม ” และ “ ศาสตร์ ” แปลว่า “ วิชา ” เมื่อรวมความแล้วจึงแปลได้ว่า “ วิชาที่ว่าด้วยสิ่งสวยงาม ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Aesthetics” (เอ็ซเธทถิกส์) โดยศัพท์คำนี้เกิดจากนักปรัชญาเหตุผลนิยมชาวเยอรมันชื่อ โบมกาเต้น ( Alexander Gottlieb Baumgarten ) ซึ่งสร้างคำจากภาษากรีกคำว่า “Aisthetikos” (อีสเธทิโคส) แปลว่า “ รู้ได้ด้วยผัสสะ ”

ความงามอาจเป็นสิ่งลึกซึ้งที่มีอยู่ในทุกสิ่ง อาจจะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรืออาจจะเป็นคุณสมบัติในทางศีลธรรม หรือสิ่งที่โน้มน้าวใจให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ปลาบปลื้ม ความงามอาจมีอยู่รอบๆ ตัวเรา ทั้งสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาเอง ทั้งสิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ

ศัพท์ Aesthetics ในภาษาอังกฤษกำหนดไว้ให้หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยศิลปะโดยทั่วไป อาจแบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้

•  ประวัติศาสตร์ศิลปะ ( History of Art )

•  ศิลปวิจารณ์ ( Criticism of Art )

•  ทฤษฎีศิลปะ ( Theory of Art )

•  จิตวิทยาศิลปะ ( Psychology of Art )

•  สังคมวิทยาศิลปะ ( Sociology of Art )

•  ปรัชญาศิลปะ ( Philosophy of Art )

เกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์ คืออะไร ?

การตัดสินทางสุนทรียศาสตร์ คือ การที่เราใช้จิตแสดงปฏิกิริยาต่อสภาพการณ์ในสิ่งแวดล้อม หรือการที่จิตประเมินค่าวัตถุที่มีคุณค่า ที่เร้าให้เกิดความรู้สึกภายในจิตใจ แม้ว่าความงามจะขึ้นอยู่กับจิต แต่ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตามใจชอบ หากแต่ต้องขึ้นอยู่กับคุณค่าที่มีอยู่ในวัตถุนั้น ๆ ด้วย

มุมมองทางความคิดของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน หลากหลายออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ๆ ว่าใช้อะไรเป็นหลักในการตัดสินสิ่งต่าง ๆ และการตัดสินทางสุนทรียศาสตร์ก็สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มแนวคิด ดังนี้


 1. กลุ่มที่ใช้ตนเองเป็นตัวตัดสิน

เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ อัตนัยนิยม ” ( Subjectivism ) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความรู้ ความจริงและความดีงามทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีความจริงในตัวเอง หากแต่เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์ในทางความรู้ ความจริงและความดีงามนี้จึงไม่มีอยู่จริง มนุษย์เท่านั้นที่มีอยู่จริงและจะเป็นตัวตัดสิน พร้อมทั้งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา มนุษย์แต่ละคนต่างมีมาตรวัดความจริงต่างกันออกไปโดยไม่ขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด เกณฑ์การตัดสินแบบนี้สามารถทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองได้ แต่หากความรู้สึกเชื่อมั่นนี้มีมากจนเกินไปอาจจะส่งผลทำให้เราเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลต่อไปคือ ทำให้เรามีโลกทัศน์ที่แคบ และเดียวดายในโลกกว้างนี้

นักสุนทรียศาสตร์ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มโซฟิสต์ ( Sophist ) ฮอบส์ ( Hobbes ) และออร์เตกา ( Ortega ) เป็นต้น



 2. กลุ่มที่เชื่อว่า มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวที่จะใช้ตัดสินได้

เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ ปรนัยนิยม ” ( Objectivism ) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า มีเกณฑ์มาตรฐานตายตัวแน่นอนในทางศิลปะ ซึ่งสามารถนำไปตัดสินผลงานได้ในทุกสมัย เกณฑ์มาตรฐานนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกใครหรือศิลปินคนไหน กลุ่มนี้มีความเชื่ออีกว่า สุนทรียธาตุมีอยู่จริง แม้ว่าเราจะเข้าถึงมันไม่ได้ก็ตาม แต่มันก็มีอยู่จริง และด้วยเหตุผลนี้ การที่เราตัดสินศิลปะออกมาไม่เหมือนกันก็เพราะเราแต่ละคนไม่สามารถเข้าถึงสุนทรียธาติที่แท้จริงได้หรือตัวจริงมาตรฐานนั่นเอง การที่เราจะเข้าถึงเกณฑ์มาตรฐานนี้ได้นั้น เราจำเป็นต้องฝึกพัฒนาจิตให้สมบูรณ์จนสามารถเห็นความงามมาตรฐานได้ บางคนอาจทำสมาธิ บางคนอาจฝึกฝนทางศิลปะจนชำนาญ เป็นต้น

นักสุนทรียศาสตร์ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ พลาโต ( Plato ) อริสโตเติล ( Aristotle ) และเฮเกล ( Hegel ) เป็นต้น

 3. กลุ่มที่เชื่อว่า หลักเกณฑ์ในการตัดสินสุนทรียศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม

เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ สัมพัทธนิยม ” ( Relativism ) เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกับกลุ่มอัตนัยนิยม แต่ต่างกันตรงที่กลุ่มสัมพัทธนิยมนั้นมีความเชื่อว่า กฎเกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น หรือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ตลอดจนดิน ฟ้า อากาศของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจารณ์ เพราะผู้วิจารณ์จะต้องวางตัวเป็นกลางและต้องสำนึกอยู่ในใจเสมอว่า ตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม ดังนี้แล้ว เกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมบ้าง ตามสภาพของภูมิอากาศ ภูมิประเทศนั้น ๆ บ้าง แล้วแต่สภาวะแวดล้อมจะพาไป นั่นเอง

นักสุนทรียศาสตร์ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ซานตายานา ( Santayana ) และแซมมวล อาเล็กซันเดอร์ ( Samuel Alexander ) เป็นต้น

ปรัชญาเริ่มต้นขึ้นจากความสงสัยต่อโลก ต่อตัวเราเอง ต่อสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา .... 

เราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร? 

ทำไมเราต้องตายด้วย มีชีวิตอยู่ตลอดไปหรืออมตะไม่ได้หรือ ? 
คำถาม ทำไมสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น ทำไมสิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ ทำไม อย่างไร เพราะอะไร เหล่านี้
ที่ตัวเหตุผลเป็นคำตอบ แต่เมื่อเราตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว 
คนส่วนมากมักไม่สนใจค้นหาคำตอบอย่างแท้จริง 

ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ นักคิด นักปรัชญา 
พวกเขาตั้งใจค้นคว้าคิดหาคำตอบ หาเหตุผลต่าง ๆ มาทำให้ความจริงปรากฏ 

เมื่อเหตุผลสอดคล้องกับคำถาม นั่นคือ เราได้คำตอบที่เป็นความรู้ 
ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาจึงกลายมาเป็นศาสตร์ที่มีผู้สนใจมากที่สุดในโลก

วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เรารู้คืออะไร และเรารู้สิ่งนั้นได้อย่างไร
แต่ปรัชญากลับเสนอความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้คืออะไร

ตรงนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์กับปรัชญานั้นแตกต่างกัน 
ต่อมาเมื่องานของวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าออกไปจนปรัชญาทำงานตามไม่ทัน 
ดังนั้นศาสตร์ 2 ศาสตร์นี้จึงแยกออกจากกันอย่างชัดเจน 

ไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่แยกตัวออกมาจากปรัชญา 
วิทยาการด้านต่าง ๆ หลายด้านเมื่อมีวิธีการที่พัฒนาเฉพาะด้านมากขึ้น มีเนื้อหาที่ศึกษาเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น 
จึงได้แยกตัวออกมาจากปรัชญาได้ 

ศาสตร์แรกที่แยกตัวออกจากปรัชญา ก็คือ ศาสนา เพราะเมื่อศาสนามีหลักการต่าง ๆ 
คำสอน และเนื้อหาที่แน่นอนและมากขึ้น ศาสนาจึงไม่ต้องพึ่งปรัชญาอีกต่อไป 

ต่อมาก็เป็น คณิตศาสตร์ ที่แยกตัวออกมา ต่อจากนั้นก็เป็นสังคมศาสตร์ จิตวิทยา เราจะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่ปรัชญาจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ต่าง ๆ ข้างต้นมาแล้วเท่านั้น แต่ปรัชญายังเป็นศาสตร์แม่หรือศาสตร์ต้นกำเนิดของวิทยาการต่าง ๆ ด้วย 




ปรัชญา คืออะไร ?  ศัพท์คำว่า “ ปรัชญา ”  
ปรัชญา มาจากคำสันสกฤต 2คำ ได้แก่ 
 “ ปร (คำอุปสรรค) ” แปลว่า รอบ, ประเสริฐ กับคำว่า  “ ชญา ” แปลว่า รู้, เข้าใจ 

รวมความแล้ว ปรัชญา จึงมีความหมายว่า ความรู้รอบโดยทั่ว, ความรู้อย่างแท้จริง, ความรู้อันประเสริฐ 

                                                 “Philosophy” 

ศัพท์คำว่า “Philosophy” ( love of wisdom) นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ 2 คำ คือ 

              Philos (loving or dear ) แปลว่า ความรัก, ความเลื่อมใส, ความสนใจ 
              Sophia (wisdom or knowledge) แปลว่า ปัญญา, ความรู้, วิชาการ 

รวมความทั้ง 2 คำแล้ว ได้ความหมายว่า ความรักในปัญญา, ความรักในความรู้, ความรักในวิชาการ 
ปรัชญานั้นมีความหมายกว้างมาก ยากที่จะจำกัดความลงไปได้ 
เพราะเหตุที่วิชาปรัชญานั้นเป็นวิชาที่ศึกษาหาความจริงตามหลักเหตุและผลอย่างกว้าง ๆ กับธรรมชาติของจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ 
นักปรัชญาแต่ละคนก็ล้วนแต่ให้ความหมายของคำว่า “ ปรัชญา ” ที่แตกต่างกันออกไป เช่น


โสคราเตส – ปรัชญา คือ ความรักในความรู้ 

เพลโต – นักปรัชญา คือ คนที่ศึกษาถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย 
ปรัชญามีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงความรู้ที่แท้จริง เป็นนิรันดร์ 

อริสโตเติล – ปรัชญา คือ ทฤษฎีความรู้ หรือทฤษฎีคุณค่า 
และ ปรัชญาคือ ศาสตร์ซึ่งค้นหาถึงธรรมชาติของสิ่งที่มีเป็นอยู่ด้วยตนเอง และคุณสมบัติตามธรรมชาติของสิ่งนั้นด้วย 

ค้านท์ – ปรัชญา คือ ศาสตร์แห่งความรู้และการวิพากษ์วิจารณ์ความรู้ 

http://photo.lannaphotoclub.com/index.php?topic=2075.0

No comments: